วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์วรรณกรรม

หนังสือกับเวทีประกวดวรรกรรมสร้างสรรค์


ถึงเวลาที่ต้องมาว่ากันที่ของจริง ตอน ปริมาณที่ไม่สนใจคุณภาพ

อารดา เปรมพันธุ์


หลังจากประกาศรายชื่อหนังสือรวมบทกวีที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรท์ประจำปี 2550 ซึ่งปรากฏว่าปีนี้มีรวมบทกวีส่งเข้าประกวดมากมายชนิดไม่พลิกความคาดหมาย นั่นคือมีมากถึง 67 สำนวนหรือเล่มแล้ว ดูเหมือนว่า คำกล่าวที่ว่า “บททกวีตายแล้ว” ในบ้านเรายังไม่น่าจะใช้ได้


ที่ยังไม่น่าจะใช้ได้นั่นเราวัดกันเฉพาะปริมาณของงานที่สร้างกันขึ้นมา แต่ไม่นับหรือมองผ่านเรื่องของคุณภาพไป


แต่เมื่อ เอาเข้าจริงๆ ในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่รู้สึกอยากจะหาผลงานของกวีที่ส่งเข้าประกวด และเดินร้านหนังสือเพื่อหาซื้อผลงานเหล่านั้น ผมกลับพบว่า มีหนังสือรวมบทกวีที่วางจำหน่ายในร้านจริงๆ ไม่เกิน 20 เท่านั้น และในจำนวนอันน้อยนี้ก็ดูเหมือนว่าเดินหาซื้อกันยากเย็นอีกต่างหาก


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อไหนๆไหนๆแล้วเอาเป็นว่า ครั้งนี้ผมขอเอาความรู้ที่พอมีอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ มาบอกเล่าให้ผุ้อ่านที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับแวดวงนี้มากนักหรือผู้อ่านที่อึดอัดกับปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รู้กันพอเป็นข้อมูลก็แล้วกัน


ข้อแรกที่น่าสนใจนั่นคือ ปัจจุบันนี้ การประกวดรางวัลซีไรท์กลายเป็นกระแสหลักของวงวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยไปแล้ว ซีไรท์ของไทยแบ่งแยกออกเป็นงาน 3 ประเภทชัดเจน คือ นวนิยาย รวมเรื่องสั้น และรวมบทกวี ทั้ง 3 ประเภที่ว่าจะจัดประกวดสลับกันไปตามลำดับ ดังนั้นเมื่อการประกวดรางวัลนี้กลายเป็นกระแสหลักไปแล้วในแวดวงของวรรณกรรมสร้างสรรค์ดังนั้นในการจัดพิมพ์ในแต่ละปีเราจึงต้องยอมรับกันว่าปีไหนที่มีการประกวดนวนิยาย ผลงานนวนิยายก็จะออกมาวางจำหน่ายให้เลือกอ่านกันมาก ปีไหนที่เป็นรอบของรวมเรื่องสั้นปีนั้นจะมีแต่รวมเรื่องสั้น และหากว่าปีไหนเป็นรอบของบทกวีกระแสก็จะไปอยู่ที่งานรวมบทกวี


จุดนี้กลายเป็นว่ารอบการประกวดรางวัลซีไรท์ กลายเป็นรอบของข้อกำหนดการพิมพ์หนังสือของสำนักพิมพ์ไปด้วยแล้วเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสำนักพิมพ์ที่สนใจจะพิมพ์งานวรรณกรรมต่างก็หวังที่จะแทงหวยเพื่อฟลุ๊คมีผลงานของตัวเองเข้ารอบหรือได้รางวัลเป็นสำคัญ ดังนั้นหากว่าปีไหนที่ซีไรท์ประกวดประเภทหนึ่งแล้ว ประเภทอื่นๆ ยากยิ่งนักที่จะได้ตีพิมพ์ออกมา(เรื่องนี้อาจมีเว้นบ้างในบางสำนักพิมพ์ที่ถือว่ามีคุณภาพจริงๆ)


นี่คือข้อจำกัดหนึ่งมี่ต้องเข้าใจกันไปแล้วในวันนี้ แม้แต่นักเขียนเองก็ดูเหมือนว่า เมื่อการประกวดถึงรอบของประเภทไหนก็จะทำงานประเภทนั้นออกมา คือปีไหนเรื่องสั้นก็ตะลุยเขียนเรื่องสั้น ปีไหนนวนิยายก็ตะบันเขียนนวนิยาย บางคนเขียนบทกวีไม่เป็นแต่เมื่อถึงรอบของบทกวีก็ฝืนรวบเอาผลงานที่พอมีมารวมกับเขาบ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อมีผลงานส่งเข้าประกวด และได้ยินไม่น้อยว่า เพื่อไม่ให้ชื่อในฐานะของนักเขียนหายไปจากบรรณภิพบ(แปลกดี)


ในจุดนี้เรามิพักพูดถึงเรื่องความต้องการด้านรายได้ที่จะได้จากผลงานนั้นๆ เพราะต่อไปเราจะมาพูดกันในประเด็นนี้แบบกว้างๆมากยิ่งขึ้น


ประเทศไทยปี 2550 งานวรรณกรรมสร้างสรรค์ถูกมองเมินกว่างานแนวทางอื่น ด้วยเหตุผลที่แจงชี้จากสำนักพิมพ์ว่าเพราะไม่สามารถทำยอดจำหน่ายได้ สู้หนังสือประเภทงานแปลหรืองานแฟนตาซีไม่ได้ อีกทั้งไม่ต้องไปเทียบกับงานประเภทแฉของดาราหรืองานช่างฝันของวัยรุ่น ดังนั้นบรรดานักเขียนและนักอยากเขียนจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ดังนั้นการ “ช่วยเหลือตัวเอง”ที่ปรากฏจึงแสดงออกมาให้เห็นในเวทีของการประกวด


ด้วยเรื่องของ “การช่วยเหลือตัวเอง(น่าจะตัดคำว่า ‘เหลือ’ออกนะ)” ที่นำไปสู่การทำความเข้าใจกันในประเด็นที่ 2 ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นหลักที่เราจะพูดกันในที่นี้ และเป็นประเด็นที่มองเห็นและน่าเบื่อที่สุดในเวลานี้ ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจความเป็นนักเขียนกันเสียก่อน ในสายตาของผมแล้ววันนี้นักเขียนบ้านเรา(เอาเฉพาะนักเขียนแนวสร้างสรรค์นะครับ)ในเวลานี้ มีอยู่สองประเภท


ประเภทแรกคือประเภทที่สร้างสรรค์งานและใช้งานหาเลี้ยงตัวเองไปในตัวด้วย นักเขียนประเภทแรกผมชื่นชมเพราะเขาคือคนทำงานเขียนแท้จริง เมื่อทำงานเขียนแท้จริงแล้วแน่นอนก็ต้องให้งานที่เขียนและทำนั้นเลี้ยงตัวเองให้ได้ ซึ่งในกลุ่มนี้เราไม่จำเป็นต้องไปพูดกันถึงเรื่องของคุณภาพในการสร้างสรรค์งานว่ามีมากหรือน้อยเท่าไร สำหรับผมหากว่าใครที่เป็นนักเขียนแท้จริงแล้วแน่นอนเขาย่อมพยายามสร้างสรรค์งานที่ดีที่สุด นั่นเพราะงานที่ดีนอกเหนือจะทำความภาคภูมิใจแล้ว มันจะนำมาสู่รายได้และอื่นๆ ที่หวังเอาไว้ด้วย หากงานไม่ดีสุดท้ายผู้อ่านก็จะไม่ให้คุณค่ากับตัวเขาเอง


ประเภทที่ 2 คือประเภทนักเขียนชั่วคราวหรือนักอยากเขียน ประเภทหลังอาจจะมีฝีมือหรือไม่มีผีมือก็เป็นเรื่องของตัวบุคคลไป บางคนอาจจะมีความสามารถมากในการสร้างสรรค์งานแต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจจึงต้องเจียดเวลาและหัวสมองไปให้กับการเลี้ยงชีพแต่มีไม่น้อยที่เขียนหนังสือไม่เป็นแต่กระเหี่ยนกระหือรืออยากเป็นนักเขียนจึงพยายามเขียนงานออกมาสู่สายตาของนักอ่าน ต้องทำความเข้าใจนะครับประเภทหลังนี้ไม่ได้ผิดหรือถูกที่จะเป็นนักเขียนหรือนักอยากเขียนแต่บางครั้งเราต้องมานั่งพูดคุยกันบ้างว่า แท้จริงแล้วการสร้างสรรค์งานมันคืออะไร และคุณค่าที่แท้จริงของวรรณกรรมในรูปของหนังสือนั้นมันมีอะไรที่ต้องสนใจ


ทั้งสองประเภทที่ว่ามานี้ผมไม่ได้แบ่งแยกนะครับว่า ประเภทหนึ่งประเภทใดต้องดำรงชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ต้องทำงานทำการอื่นๆ นักเขียนอาชีพก็สามารถเป็นนักเขียนและเป็นนักการเมืองหรือนักอื่นๆ ไปได้พร้อมกัน หรือนักอยากเขียนอาจจะไม่ทำงานอะไรเลยก็ได้หวังพึ่งแต่ค่าเรื่อง หรือจะเป็นนักอย่างอื่นไปด้วยก็คงไม่มีใครว่าอะไร


ด้วยเหตุผลของนักเขียนและนักอยากเขียน 2 ประเภทที่ว่านี้เอง เมื่อผนวกเข้ากับกระแสและแนวทางของการประกวดรางวัลซีไรท์ที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักในการชี้นำการเกิดและดำรงอยู่ของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยไปแล้ว ทำให้เราเห็นอะไรด้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น


โดยเฉพาะในรอบของการประกวดรางวัลซีไรท์ประเภทบทกวี ที่เมื่อสักหนึ่งหรือสองปีที่ผ่านมา หากว่าเราเดินตามแผงหนังสือแล้วเราอาจจะไม่เห็นผลงานรวมบทกวีใหม่ๆ ของนักเขียนวางจำหน่ายเลย แต่เมื่อทางโอเรียลเต็ลประกาศรับหนังสือเข้าประกวดเราก็พบว่ามันมีปริมาณมากถึง 67 สำนวนเลยทีเดียว 67 สำนวนหมายถึง 67 เล่มหากวางแผงเอาเป็นว่าจัดชั้นเฉพาะบทกวีก็ปาเข้าไปครึ่งร้านแล้วนะครับ แต่ปรากฏว่าวันนี้หากเราเดินไปถามที่ร้านอาจจะมีให้ซื่อได้เพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?


ผมจะขยายความออกมาให้เห็นต่อว่า ในจำนวนหนังสือที่ส่งเข้าประกวดนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทครับ ประเภทแรก คือประเภทที่พิมพ์ออกมาจริง ในจำนวนพิมพ์ 1,000 ฉบับ 2,000 ฉบับ และไม่น่าจะเกินกว่า 3,000 ฉบับในประเภทบทกวี อีกทั้งได้วางจำหน่ายจริง คือผ่านระบบสายส่ง และมีวางจำหน่ายในร้ายหนังสือจริง ส่วนว่าสายส่งจะส่งผ่านสายส่งใหญ่หรือฝากวางจำหน่ายด้วยตัวเองก็ตามถือว่าได้ทำจริงออกมา ในจำนวนนี้มีทั้งที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มาตรฐานและเจ้าของผลงานลงทุนควักสตางค์มาพิมพ์เอง กระนั้นในส่วนนี้สำหรับผม(นักอ่านคนหนึ่ง) ขอยกนิ้วให้ว่าเป็นตัวจริงครับ


ประเภทที่สอง คือประเภทพิมพ์จริงเหมือนกันแต่เป็นประเภทพิมพ์จริงแบบชั่วคราว(อีกแล้ว) ที่ว่าพิมพ์แบบชั่วคราวเพราะ งานเขียนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะเป็นประเภทที่วางเป้าเอาไว้ที่ “กล่อง” คือ “กล่องจะนำมาสู่รายได้”มากกว่าที่ “ผลงาน” คือ “ผลงานนำมาสู่รายได้” ดังนั้นเป้าหมายในการรวมเล่มบทกวีจึงพุ่งตรงไปที่การทำหนังสือเพื่อส่งเข้าประกวดโดยเฉพาะ แม้จะผ่านกระบวนการพิมพ์จริงๆ แต่ก็ขยักเอาไว้คือ พิมพ์ออกมาในจำนวนน้อยคือไม่เกินกว่า 500 ก๊อปปี้ หรือบางเล่มอาจจะออกมาในปริมาณเพียงแค่พอส่งเข้าประกวดสักหนึ่งหรือสองสนามเท่านั้น วิธีการประเภทนี้ผู้เขียน(หากลงทุนเอง) หรือสำนักพิมพ์ ใช้วิธีแบบหมอดูคือ “เก็ง” เอาไว้ว่าน่าจะเข้ารอบหรือโชคดีได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง (อ้อตรงนี้ต้องเข้าใจนะครับว่าหากพลาดรางวัลซีไรท์แล้วยังมีรางวัลอื่นรองรับไม่ว่า เซเว่นบุ๊คอวร์ด หรือรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นต้น)


หากได้รางวัลใหญ่อย่างซีไรท์ ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ขึ้นมาก็อาจจะสั่งโรงพิมพ์ให้ “ปั๊ม”ออกมาทันที และวางจำหน่ายได้ทันทีเมื่อประกาศผลเรียบร้อยแล้ว แต่หากได้รางวัลรองๆลงไปอาทิ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวร์ด(อันที่จริงรางวัลนี้มีเงินรางวัลมากกว่าซีไรท์เสียอีกนะ ) หรือรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ทางผู้พิมพ์ก็ต้องขอพิจารณาก่อนว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเท่าไร ดังนั้นนักอ่านที่อยากอ่านจึงจะต้องรอลุ้นกันไปก่อนหากอยากจะหาหนังสือในกลุ่มนี้อ่าน


ประเภทที่สาม คือประเภทสุดท้าย ประเภทนี้ผมเรียกว่าประเภทชายขอบหรือประเภทร้อนวิชา หรือจะเรียกว่าประเภทช่วยเหลือตัวเองก็คงพอได้ กล่าวคือ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มนะครับ กลุ่มแรกเป็นนักเขียนที่มีชื่อและผลงานมาบ้างแล้ว หรืออาจจะเป็นที่ยอมรับกันบ้างแล้ว แต่ว่าประเภทของงานนั้นๆ หรือเล่มนั้นๆ ไม่มีสำนักพิมพ์ใดสนใจจะพิมพ์ เมื่อจะไม่รวมเล่มก็เสียดายโอกาสที่อาจจะฟลุ๊คได้รับรางวัลในปีนั้นไป และครั้นจะลงทุนเอาเงินไปเสียค่าทำเพลทและเสียค่ากระดาษและค่าพิมพ์ซึ่งต้องใช้เงินพอสมควรอยู่(แม้จะทำออกมาในแบบประเภทที่สองก็ตาม) จึงต้องตัดสินใจใช้วิธีจัดหน้าเอง ทำเอง ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ออกมาแล้วก็พับเล่มเอง ทำปกเอง ใสกาวเอง (เราเรียกหนังสือประเภทนี้อย่างให้กำลังใจว่า หนังสือทำมือ) ในจำนวนที่พอส่งเข้าประกวดได้เป็นอันจบเรื่อง และกลุ่มที่สองคือประเภทคนรุ่นใหม่ใจร้อน หรือร้อนวิชา บางคนเขียนงานไปบ้างแล้วแต่สำนักพิมพ์ยังไม่สนใจพิมพ์เพราะยังไม่มีจุดขายหรือมีชื่อพอ บางคนอาจจะเพิ่งเริ่มเขียนงานมาไม่นานนักแต่มีปริมาณงานพอสมควรเสียดายของ ครั้นส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณาเขาก็ไม่เลือกสุดท้ายก็มีทางออก บอกกับตัวเองให้พอดีใจเล่นๆ อยู่คนเดียวว่า ดลกเขายอมรับกันแล้วว่าหนังสือทำมือนั่นเป็นเรื่องของคนที่มีไฟ เมื่อเรามีไฟก็ทำมือส่งเข้าประกวดเสียเองเลยดีกว่า ส่วนว่าจะผลิตออกมามากน้อยนั่นก็ว่ากันไปตามแรงปรารถนาของแต่ละคน แต่บอกเอาไว้ได้คือ สำหรับนักแล้วแล้วประเภทที่สามนี้ หากไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรือเทพดลใจให้ไปเดินสะดุดเอาตามแถบมหกรรมสินค้าราคาถูกแล้วอย่าหวังจะได้อ่านงานรวมเล่มนี้เลย


ในการส่งหนังสือเข้าประกวดรางวัลซีไรท์ปีนี้จึงให้ผู้อ่านลองเอาหนังสือ 3 ประเภทมาหารกับจำนวนดูก็แล้วกัน ก็จะรู้ว่าวันนี้ตลาดหนังสือบ้านเราเป็นอย่างไร และใครที่อยากหาอ่านรวมบทกวีที่ส่งเข้าประกวดจะได้ทำใจได้ว่าเราจะสามารถอ่านงานเหล่านี้ได้กี่เล่ม


มีประเด็นที่ผมอยากจะพูดอีกสักนิดนั่นคือ ในการประกวดรางวัลซีไรท์ยังไม่เคยปรากฏนะครับว่า กลุ่มหนังสือในประเภทที่สามคือหกลุ่มหนังสือทำมือเล่มใดได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ไป ซึ่งในที่นี้ผมต้องขอแสดงความยินดีกับวงการวรรณกรรมบ้านเราอยู่ ส่วนประเภทแรก และประเภทที่สองนั้นเขาแบ่งรางวัลกันเองอยู่เสมอมาครับ


คราวนี้ขอมาพูดกันในเรื่องของการสร้างสรรค์กันบ้าง ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม ผมอยากบอกในที่นี้ว่า ผมภูมิใจเสมอที่พบว่าหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งวางจำหน่ายในร้านหนังสือ ไม่ว่านักเขียนคนนั้นๆ จะเป็นนักเขียนมีชื่อหรือนักเขียนใหม่ ขอเพียงให้รู้จักสร้างสรรค์งานออกมาเท่านั้นก็พอ ที่สำคัญผมยังเชื่อในแนวทางแบบเก่าว่า งานที่รวมเล่มและออกวางจำหน่ายนั้นอย่างน้อยที่สุดมันต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการหรือผุ้อ่านบางคนมาแล้วชั้นหนึ่ง (ส่วนจะคุณภาพหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันอีกต่างประเด็นไป)ดังนั้นเมื่อเห็นหนังสือวางจำหน่าย ซึ่งแปลกว่าเปิดโอกาศให้คนทั่วไปได้หาอ่านได้โดยมาตรฐานนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ วรรณกรรมเล่มนี้มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง (ส่วนมันจะไปอยู่ในชั้นหนังสือบ้านไหนนั้น หนังสือมันจะเลือกหาคนอ่านของมันเอง นานมาแล้วจำลอง ฝั่งชลจิตรว่าเอาไว้อย่างนั้น)


ขณะที่สำหรับหนังสือประเภททำมือนั้น แท้จริงผมยอมรับว่ามันก็ดีอยู่ที่เรามีทางออกที่จะสามารถช่วยตัวเองได้ แต่ก็อย่าลืมนะครับว่า การช่วยตัวเองนั้นมันไม่ทำให้ “ท้อง”ได้ การท้องนั้นมันสำคัญเพราะมันหมายความว่าเขาจะสามารถสืบทอดเผ่าพันธ์ของเขาได้ หากว่ามนุษย์เรารู้จักแต่การช่วยตัวเองแล้วเราจะสืบทอดเผ่าพันธ์กันอย่างไร แล้วหากมีผลงานหนังสือประเภททำมือออกมากันหมดต่อไปเผ่าพันธ์วรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยเราจะเป็นอย่างไร ให้โอกาสคนที่อยากอ่านหนังสือดีๆ ได้ใช้เงินของตัวเองซื้อหาอ่านกันบ้าง อย่าหวังเพียงแค่ทำกันเองแล้วอ่านกันเอง ซึ่งสุดท้ายก็จะชื่นชมกันเองเท่านั้น


หรือสำหรับผู้ที่ทำหนังสือเพื่อหวังแค่ส่งเข้าประกวดเท่านั้น เคยคิดหรือไม่ว่า แม้จริงแล้วงานของท่านนั้นอาจจะมีค่ากว่ารางวัลนั้นๆก็ได้ ทำไมเราจึงต้องมาปิดโอกาสตัวเองด้วยความมักเร็วเพียงแค่ใจปรารถนาเท่านั้นเล่า บอกตามตรงผมยังไม่เคยเห็นนักเขียนใหญ่คนไหนเขามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับได้จากการมีผลงานทำออกมาแบบประเภททำมือเลย


และอยากบอกต่อถึงกรรมการด้วยว่า ในการจัดการแข่งขันหรือประกวดหนังสือรางวัลสำคัญๆ นั้น เป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อสร้างสรรค์และส่งเสริมแวดวงวรรณกรรมและงานเขียน และอาจหมายรวมไปถึงวงการหนังสือและนักอ่านด้วย หากว่าเราตัดสินให้รางวัลกับหนังสือที่ทำออกมาเพื่อหวังแค่ส่งเข้าประกวดแล้ว เป้าหมายของเรานั้นจะสมหวังสักเท่าไร


หากผมเป็นกรรมการบ้าง ผมจะบอกให้งานดีๆ ที่ทำมือออกมาส่งประกวดกลับไปส่งประกวดในประเภทที่เขารับต้นฉบับ หรือไปประกวดในประเภทหนังสือทำมือเสีย แต่หากว่าเชื่อว่างานของคุณมีคุณภาพจริงก็ไปพิมพ์ออกมาวางขายกันจริงๆ เสียก่อน เพราะหนังสือไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำออกมาให้กรรมการอ่านเท่านั้น แต่หนังสือที่แท้จริงต้องทำให้มวลชนอ่านนะคร๊าบบ


(ผมคัดหนังสือที่วางจำหน่ายทั่วไปและพอหาซื้อได้ และส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรท์ปีนี้มาให้ดูกันพอประดับอารมณ์ หากมีโอกาศฉบับต่อไปเราจะมาดูเนื้อหาของหนังสือทั้ง 67 เล่ม หากหามาได้ว่า นักเขียนคนไหน หรือผลงานเล่มใด ที่เริ่มสดใสกาววาวในเวทีซีไรท์ปี 2550)

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/aradapream/2007/07/17/entry-2

ไม่มีความคิดเห็น: