วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551

ข้อสอบปลายภาค ง่าย ๆ

มีกระดาษคำตอบด้วย เงื่อนไขสำหรับผู้ที่สอบผ่านหน้าเว็บ คุณต้องทำให้ได้ ร้อยละ 100 คือ ต้องถูกทุกข้อนะครับ สำหรับผู้ที่สอบที่โรงเรียน ให้โอกาสผิดได้ 30 ข้อ ครับ คลิกที่นี่
http://www.webbox.msu.ac.th/show_doc.asp?doc_id=627

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551

รูปแบบการเขียนงานแก้ ระหว่างภาคนะครับ

ชัดเจนแล้วว่าทุกคนไม่ผ่าน ...ฉะนั้น งานนี้ก็คืองานเดิมที่ต้องกลับไปอ่านงานของตนอีกครั้งและตอบปัญหาครูอยู่ 2 ประเด็น คือ
1. คุณค่าทางวรรณศิลป์ (มองความงามของตัวอักษร)
2. คุณค่าทางสังคม (ที่เราได้รับ )

ทำที่ 2 เล่ม คือ เรื่องไทย และเรื่องแปล

เขียนตอบเป็นข้อ ๆ ข้อละ 1 หน้ากระดาษ
หน้าที่ 1 เรื่องย่อของหนังสือเล่มนั้น ๆ
หน้าที่ 2 ตอบ คุณค่าทางวรรณศิลป์
หน้าที่ 3 ตอบ คุณค่าทางสังคม

1 ท่าน ก็จะทำ 2 เรื่อง ก็คือ 6 หน้า ลองมองงานให้ออก อ่านให้ได้ จำหลัก 3 ข้อในการอ่านวรรณกรรมให้ได้นะครับ

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทวิจารณ์วรรณกรรม (1)

ในเวลาและแผ่นดินอื่นของ“คนขายโรตีจากศรีลังกา”ความจริงที่เราต่างสร้างกันขึ้นมาและต้องยอมรับมันให้ได้

อารดา เปรมพันธุ์

หากว่า กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ไม่จากลาโลกนี้ไปเสียก่อน วรรณกรรมชั้นดีของสยามประเทศน่าจะมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง – ผมคิดเช่นนั้น

และหากว่ากนกพงศ์เป็นนักเขียนชาวยุโรปหรืออเมริกา การออกผลงานใหม่ภายหลังจากเขาลาโลกไปแล้ว ผลงานนั้นน่าจะเป็นผลงานที่ถูกกล่าวถึงและเฝ้าติดตามกันอย่างแน่นอน

แต่นี่เขาเป็นนักเขียนของประเทศไทย ประเทศที่ว่ากันว่ามีคนอ่านหนังสือน้อยเต็มที และที่อ่านวรรณกรรมก็มีน้อยยิ่งกว่าน้อย “นิทานประเทศ” รวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของกนกพงศ์ ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงกลายเป็นเพียงรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการยอมรับและกล่าวถึงมากน้อยเพียงใด

แน่นอนว่า อย่างน้อยที่สุดขอให้ผู้คนที่รักวรรณกรรมและหลงใหลในความงามแห่งวรรณศิลป์อ่านมันเถอะ อ่านมันเพื่อจะพบว่า วรรณกรรมชั้นดีนั้นเขาเป็นอย่างไร และที่ผ่านมานักเขียนบ้านเราก็ทำออกมาได้ดีไม่น้อยหน้าไปกว่าใครอื่นเขา

แม้เพียงกนกพงศ์จะเป็นนักเขียนหนุ่ม แต่พลังแห่งนักเขียนหนุ่มของเขาก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากน้ำเนื้อวรรณกรรมที่เขาสร้างสรรค์มาตลอดวันวัยแห่งชีวิตที่ผ่านมา

ผมต้องบอกตามตรงว่า สำหรับ “นิทานประเทศ” รวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของกนกพงศ์ ที่รูปเล่มหนาเตอะเล่มนี้ ผมยังอ่านไม่จบ

อ่านไปได้เพียงแค่ 3 เรื่องแรกเท่านั้น แต่ก็พอมองเห็นโครงสร้างความคิดของบรรณาธิการในการรวมเล่มได้อย่างเลาๆ

แน่นอนว่าสำหรับกนกพงศ์ นั้นผู้อ่านของเขามักคุ้นเคยกับการเขียนเรื่องสั้นให้ออกมายาวๆ และมีสไตล์เป็นของตัวเองอย่างที่เห็น

การยอมรับในฝีไม้ลายมือนั้นมีมากแล้วจากผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง “แผ่นดินอื่น” รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรท์ที่ประเทศนี้ทันมอบให้กับเขาเป็นการตอบแทนเมื่อปี 2539 ที่ผ่านมาเขามีผลงานรวมเรื่องสั้นหลังจากแผ่นดินอื่นออกมาอีกหนึ่งเล่มในชื่อเล่มว่า “โลกหมุนรอบตัวเอง” ซึ่งผมเองก็ยังไม่ได้อ่าน

ดังนั้นขอผู้อ่านจงอย่าได้เข้าใจว่าผมวิจารณ์หนังสือรวมเรื่องสั้น “นิทานประเทศ” เพราะวันนี้เราจะมาสนุกกันกับการวิเคราะห์วิจารณ์ เรื่องสั้นเรื่องเดียวที่รวมอยู่ในเล่มนี้

เรื่องสั้นเรื่องนั้นชื่อ “คนขายโรตีจากศรีลังกา” (กรุณาขีดเส้นดินสองเส้นตีด้วยไม้บรรทัดใต้ชื่อเรื่อง)

ทำไมผมจึงคิดหยิบเรื่องสั้นเรื่องนี้มาวิเคราะห์วิจารณ์กันในที่นี้?

คำตอบคือ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่ผมอ่านจบจริงๆ ,เพราะเรื่องนี้มีประเด็นให้ผมคิดมากจริงๆ ,เพราะเรื่องสั้นเรื่องนี้มีมุมมองให้เราทำความเข้าใจได้มากจริงๆ ,และเพราะชื่อของมันเทห์ดี จริงๆ

ว่าแล้วผมก็ขอสนุกกับการวิจารณ์เรื่องสั้นเรื่อง “คนขายโรตีจากศรีลังกา” (กรุณาขีดเส้นดินสอสองเส้นตีด้วยไม้บรรทัดใต้ชื่อเรื่อง)

แม้งานเขียนชิ้นนี้จะถูกกำหนดให้เป็นวรรณกรรมวิจารณ์ กระนั้นผมก็ขอ “ลองเล่น” กับงานเขียนวิจารณ์ชิ้นนี้ดูสักหน่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะผมคิดว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรอย่างน้อยมันก็จะต้องทำหน้าที่ของมันนั้นคือ ตีแผ่งานเขียนชิ้นนี้ออกมาในเชิงวิเคราะห์วิจัยนั้นเอง


หากว่า “คนขายโรตีจากศรีลังกา”เป็นหนัง


แน่นอนว่า หากว่า “คนขายโรตีจากศรีลังกา”เป็นหนัง แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้จะต้องเป็นหนังชีวิต สุข เศร้า เคล้าน้ำตา มีกลิ่นอาจของผู้กำกับอย่าง อับบาส แห่งอิหร่าน หรือไม่ก็เป็นหนังในแนวทางแบบของสัตยาจิต เรย์ แห่งอินเดีย

เรื่องราวแม้จะออกมาเป็นดราม่า แต่ก็ไม่ไหลลึกไปจนกลายเป็นเมโลดราม่าพื้นๆ ด้วยว่าการวางตัวละครของหนังเป็นการจัดวางที่ผู้เขียนทำเอาไว้อย่างแนบเนียน นับแต่ตัวเอกของเรื่องคือคนขายโรตีจากศรีลังกา (ณ ที่นี้เราจะเรียกเขาว่าพระเอกของเรื่อง) คนเดินเรื่องคือ ครูใหญ่ และครอบครัว ที่มีภรรยา และลูกๆ ส่วนนางเอกของเรื่องคือ เมียของคนขายโรตีจากศรีลังกาผู้อาศัยอยู่ในป่าช้ากับลูกๆ ที่คลอดกันออกมาเหมือนคลอกแม่ไก่

เรื่องราวเปิดขึ้นที่ตัวละครที่ไม่รู้ที่ไปแต่รู้ที่มาคือ คนขายโรตีจากศรีลังกา เขาเดินขายโรตีในหมู่บ้านเล็กๆ เดินไปทุกซอกทุกซอย มีลูกค้าบ้างไม่มีบ้างเป็นธรรมดาของการค้า แต่สุดท้ายก็เกิดข่าวลือเรื่องคนทมิฬเอาหัวเด็กไปถมสะพานที่จะทอดไปสู่สิงค์โปร (ในเรื่องนี้ผมไม่แน่ใจว่าในภูมิภาคอื่นของสยามประเทศเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า แต่สำหรับภาคใต้ของไทยเราช่วงปี 2519-2523 ข่าวลือประเภทนี้มีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง และเสมอๆ)

บรรดาแม่ๆ ในหมู่บ้านมักจะเอาข่าวลือนี้มาขู่เมื่อลูกของเธอๆ ซุกซนและออกไปเล่นไกลบ้าน สุดท้ายคนศรีลังกาขายโรตีก็ต้องเลิกขายไป เพราะขายไม่ได้และจู่ๆ เขาก็ไปได้เมียเป็นหญิงสาวแปลกหน้าที่อาศัยอยู่ในที่ดินท้ายป่าช้าเป็นเมีย

เรื่องราวน่าจะจบลงแค่นี้ แต่ไม่เท่านั้น สุดท้ายคนขายโรตีชาวศรีลังกาก็ต้องประสบกับวิบากกรรมของชีวิต เมื่อเขามีลูกชายลูกชายก็ตายไปทีละคน มีลูกสาว 3 คนก็ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจากับใครเหมือนกับแม่ของเธอที่ดูเหมือนหวาดระแวงสังคมอยู่เสมอๆ จะมีก็เพียงคนศรีลังกาเท่านั้นที่ทำสวนปลูกผัก และเลี้ยงเป็นเป็นอาชีพอยู่ท้ายป่าช้า

กนกพงศ์ผูกเรื่องให้เข้มข้นขึ้นเมื่อลูกชายคนที่สองของคนศรีลังกาเสียชีวิตลงเพราะถูกเด็กในหมู่บ้านกลั่นแกล้งจับไปมัดเอาไว้ในวันหลังจากออกพรรษาของปีๆหนึ่ง ในจำนวนเด็กที่แกล้งเขานั้นก็มีลูกของครูใหญ่ ผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดของคนศรีลังกาคนนี้รวมอยู่ด้วย เหตุผลที่หนุน้อยให้กับพ่อและแม่ของเขาในการฆ่า ก็เพราะเด็กคนนั้นเป็นลูกของคนศรีลังกา คนศรีลังกาต้องจับเด็ก

เรื่องราวทั้งหมดของหนังจะบอกเล่าผ่านสายตาของครูใหญ่ กนกพงศ์มีหน้าที่มากที่สุดคือสอดแทรกอารมณ์ และพยายามฉายภาพของตัวละครด้านลึกออกมาให้มากที่สุด ดังนั้นในความเป็นหนังเราจึงมองเห็นความสุข ความทุกข์ และความเศร้าโศกผ่านใบหน้าและสายตาของครูใหญ่แทบทั้งหมด

เรียกว่าบทของพระเอกเรานั้นน้อยเต็มที โดยเฉพาะศรีนาคร คนศรีลังกา และภรรยากับลูกนั้นในเรื่องเขาพูดแทบนับคำได้ ตัวศรีนาครจะพูดก็เพียงแค่หลังยกมือไหว้ ว่า “เป็นพระกรุณายิ่ง...” ยิ่งลูกสาวด้วยแล้วไม่พูดเลย มีที่ถ่ายทอดเป็นคำพูดผ่านเรียงความว่า “พ่อของฉันเป็นชาวศรีลังกา...” เท่านี้ก็เรียกน้ำตาคนดูได้อย่างเต็มที่แล้ว

จุดนี้นับว่ากนกพงศ์ทำออกมาได้อย่างดีและน่าชื่นชมเลยทีเดียว คนที่เป็นคนไร้น้ำหนักในสังคม ถูกชะตากรรมเล่นงานอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไม่จำเป็นต้องพูดมาก พูดน้อยๆ แต่ต่อยหนักเท่านี้ก็เรียกความน่าสงสารหั้บคนดูได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญเขาเข้าฉากเมื่อไรเมื่อนั้นแย่งซีนจากตัวละครอื่นได้ทันทีทันใดเสมอ

ตัวละครที่ดูจะมีชีวิตชีวาอีกตัวคือภรรยาของครูใหญ่ เธอถูกวางตัวให้เป็นผู้หญิงในสังคมไทย คนที่ว่าก็ว่าตามกัน เธอเองที่เป็นคนเอาเรื่องคนทมิฬจับเด็กไปขู่ลูกกระทั่งกลายเป็นปมในใจของเด็กน้อย และเธอเองที่เป็นคนไถ่บาปของครอบครัวด้วยการเอื้ออาทรครอบครัวชาวศรีลังกา

หนังเรื่องนี้จบลงอย่างน่าเศร้า แต่ก็ทิ้งปมให้ผู้ชมได้คิด มันเป็นดราม่าที่เรียกได้ว่าเป็นเพื่อชีวิตสุดๆ แตกต่างอยู่บ้างก็ตรงที่ผู้กำกับอย่างกนกพงศ์ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวละครของเขาออกมาฟูมฟายหาความชอบธรรม หรือไม่แม้แต่จะให้ตัวละครของเขาทั้งหมดออกมาชี้นำผู้ชมว่าใครถูกใครผิดในสังคมที่ความจริงไม่รู้จักความจริงเช่นนี้

นัยหนึ่งหากว่า “คนขายโรตีจากศรีลังกา”เป็นหนัง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก็เป็นผู้กำกับและเขียนบท ดาราของเขาที่คัดมาแสดงทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีอย่างยิ่ง แต่ละคนต้องแสดงออกทางสีหน้ามากกว่าคำพูด ฉายภาพความคิดและปมปัญหาของเรื่องออกมาผ่านความสัมพันธ์ที่มีฉากหลังเป็นสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง ในประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เช่นนั้นแล

บทสรุปของหนังจะจบลงตรงที่ “โลกยังคงหมุนต่อไป” ภาพเฟดเอ้าท์ เป็นกล้วยน้ำว้า และฝักถั่วที่เฉาเศร้าใบซบดิน...


แต่ “คนขายโรตีจากศรีลังกา”เป็นเรื่องสั้น


เป็นเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวพอสมควร มันถูกเขียนเสร็จเมื่อไรไม่แน่ใจนักแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกที่นิตยสารขวัญเรือน เมื่อปี 2545 เพราะนิตยสารขวัญเรือนเป็นนิตยสารแนวผู้หญิงแม่บ้านหรือเปล่าไม่แน่ใจนัก กนกพงศ์ จึงตัดสินใจส่งผลงานของเขาให้ไปเผยแพร่ที่สนามแห่งนี้เป็นที่แรก

และเพราะ “คนขายโรตีจากศรีลังกา” มีตัวละครสำคัญคือภรรยาครูใหญ่ที่ต้องเจ็บร้าวจากปมที่เธอผูกให้ลูกน้อย กระทั่งกลายเป็นรอยช้ำของครอบครัวหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจอีก งานเรื่องนี้เลยได้พิสูจน์ตัวมันเองกับผู้อ่านในชั้นต้น

กนกพงศ์ฉลาดที่สร้างตัวละครของเขาขึ้นมาได้อย่างลงตัว เรื่องราวบอกเล่าผ่านสายตาเอื้ออาทรของครูใหญ่ที่มีภรรยาและลูกสาวลูกชาย เนื้อหาของครอบครัวนี้ตีคู่กันไปกับครอบครัวของคนขายโรตีชาวศรีลังกา ที่มีลูกชายสองและลูกสาวอีกสาม

หากว่าในหมู่บ้านนั้นครูใหญ่และภรรยาเป็นที่นับหน้าถือตาเป็นบุคคลแนวหน้าของชุมชน ศรีนาครและภรรยาพร้อมลูกก็เป็นคนที่อยู่ชั้นล่างสุดของชุมชน หากว่าครูใหญ่เป็นคนที่โชคชะตาไม่ได้เล่นตลก ศรีนาครก็เป็นคนที่ถูกโชคชะตาเลือกมาให้กลายเป็นคนสำคัญของปัญหา

สิ่งที่กนกพงศ์ทำลงไปในงานเขียนชิ้นนี้ของเขาชั้นแรกก็คือ การเลือกเอาแง่มุมทางจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ มาสอดใส่ในตัวละครทุกตัวของเรื่อง

ครูใหญ่เป็นคนแรกที่เกิด ID จากการหลงลืมและไม่เฝ้ามองลูกบ้านผู้อยู่ชายขอบ สุดท้ายมันกลายเป็น EGO ก็ต่อเมื่อลูกชายของเขาเองกลายเป็นหนึ่งในผู้ชำเราชะตากรรมบาปให้แก่คนที่เขามองข้าม

ตัวภรรยาของครูใหญ่ก็ไม่ต่างกัน

ลูกชายของเขานั้นถูกสร้าง EGO มาตั้งแต่ชั้นแม่ไปแล้วมันปลูกฝังจนยากยิ่งที่จะแก้ไข

แต่ทางออกเดียวที่มีอยู่ของสังคมคนแบบไทยๆ ก็คือ หากคำตอบให้กับตัวเองว่า “ได้ทำดีที่สุดแล้ว” ครูใหญ่และภรรยาแม้จะรู้สึกผิดอยู่เสมอที่ครอบครัวเธอทำกับครอบครัวศรีนาคร สามารถหาทางออกได้ก็เพียงแค่บอกตัวเองว่าทำดีที่สุดแล้ว

ดีที่สุดในความเข้าใจของเขาและเธอก็คือ การแสดงความเอื้ออาทร ไปช่วยปลูกผักปลูกหญ้าเพื่อชำระความผิดของตัวเองที่ค้างอยู่ภายใน แต่เมื่อครูใหญ่อยากจะช่วยให้ศรีนาครกลายสภาพจากคนศรีลังกามาเป็นคนไทย เขาต้องผจญกับปัญหาร้อยแปดทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ปัญหาสังคมเขาไม่อาจช่วยอะไรได้นอกเพียงจากบอกตัวเองว่าทำดีที่สุดแล้ว

ตัวละครอย่างศรีนาคร ดูเหมือนจะเป็นตัวละครที่ตื้นที่สุดในจำนวนทั้งหมดทั้งนี้เพราะผู้เขียนกำหนดให้เขาต้องเป็นผู้รับชะตากรรม ดังนั้นผู้รับชะตากรรมไม่จำเป็นต้องแสดงบทบาทมาก ขอเพียงอย่างเดียว คือยอมรับกับความจริง และการยอมรับกับความจริงที่ง่ายที่สุดก็คือการโยนทั้งหมดไปให้กับความคิดทางศาสนา สรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรรม และมันก็เหมาะควรที่สุดแล้วกับตัวละครที่จะต้องมาจากศรีลังกา เป็นศรีลังกาที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่สำคัญของโลก

ขณะที่เรื่องราวของปมปัญหาของเรื่องนั้นกนกพงศ์ทำออกมาได้อย่างน่าชื่นชม เขาช่างสังเกตและกลั่นกรองมันออกมา แม้ไม่ให้คำตอบแต่ก็ฉายภาพของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นงานสัจจนิยมชั้นดีไปในที่สุด

ปัญหาของเรื่องที่เกิดขึ้นมานี้คือประเด็นเรื่องของความจริง กนกพงศ์ตั้งคำถามกับความจริงว่า เพียงเพราะเขา – ศรีนาคร ไม่ได้เกิดมาในแผ่นดินไทย และผิวของเขาดำ เท่านั้นหรือที่เขาจะต้องถูกกีดกันไม่ให้อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้

หรือหากว่าอยู่ได้ก็ต้องอยู่ที่ชายขอบของหมู่บ้านตรงที่แสงสว่างเข้าไม่ถึงอย่างป่าช้าท้ายหมู่บ้านเท่านั้นหรือ ทั้งที่แท้จริงในแง่ของความเป็นคนนั้น เขาเป็นคนดี จิตใจงาม และที่สำคัญ เขาก็มีชีวิตเลือดเนื้อรักลูกหลานและครอบครัวไม่ต่างจากครอบครัวของคนอื่น

งานเรื่องนี้ตั้งคำถามทั้งเชิงจุลภาคและมหภาคได้อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกันเขาก็ฉายภาพฉากหลังเอาไว้ให้มีเสน่ห์อย่างยิ่ง มีเสน่ห์จนเราๆ ท่านๆ ผู้อ่านทั่วไปทำความเข้าใจได้ โดยไม่ได้รู้สึกรักเกียจเจ้าหน้าที่หรือคนที่ครูใหญ่ไปติดต่อแต่อย่างใด (ทั้งนี้เพราะเราต่างแต่เฉยเมยอยู่ในสังคมที่แท้จริงความจริงคือสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมา)

ดังนั้นเรื่องสั้นเรื่องนี้ แท้จริงแล้วกนกพงศ์ชักชวนผู้อ่านของเขาให้มาถกเถียงกันเรื่องของความจริงนั้นเอง ซึ่งเขาก็สามารถจบการวิวาทะกับผู้อ่านได้อย่างน่าสนใจตรงประโยคที่ว่า...

“ชั่วขณะหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกชิงชังโลกใบนี้ ข้าพเจ้าต้องยอมแพ้กับความจริงง่ายๆ ความจริงที่เราชวนกันสร้างขึ้นมา ความจริงซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง! ทว่าเมื่อเราไม่อาจปฏิเสธ เราก็ต้องยอมรับมัน ข้าพเจ้าต้องยอมรับ! ศรีนาครยิ่งกว่าเขาถึงขั้นต้องยอมจำนน จะให้เขาทำเช่นใดได้อีก...”(นิทานประเทศ,สำนักพิมพ์นาคร 2546,หน้า 102)

เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกผูกขึ้นอย่างมีเสน่ห์ กนกพงศ์ใช้ฉากการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพื้นหลังของเรื่อง ภาพบรรยายต่างๆ บ่งบอกเป็นนัยถึงการเดินทางของโลก ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดฉายบอกได้ก็เพียงปัญหาของความจริงที่มีอยู่เท่านั้น

ว่ากันว่าโลกหลังสมัยใหม่เรื่องของ กาละ และเทศะ เป็นประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์วิจัยมนุษย์ เรื่องสั้นเรื่องนี้สรุปให้เราเห็นว่า คนศรีลังกา นั้นเขามาผิดที่ผิดเวลา ผิดกาละ และผิดเทศะ ทั้งนี้เพราะในเทศะ(พื้นที่) แห่งนี้ที่เขามาอาศัยนั้นมันถูกสร้างความจริงว่าเขาจะต้องอยู่อย่างคนอีกชนชั้นหนึ่ง แผ่นดินที่อยู่ก็เป็นทีที่คนในสังคมไม่อยู่กัน ดังนั้นเมื่อเขาเคลื่อนที่ตัวเองจากชายขอบมารับจ้างทำงานในเมือง เขาก็ต้องถูกจับและส่งกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองในที่สุด ส่วนเรื่อง กาละ (เวลา)ก็เช่นกัน ชีวิตที่ความจริงเป็นเรื่องสร้างกันมานี้ เวลา จำกัดอย่างเต็มที จำกัดจนเราไม่อาจแทงยอดอ่อนของตัวเองออกมาหากว่าเรายืนอยู่ผิดเทศะนั้นเอง

เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่กนกพงศ์ ฉายภาพของการเป็นนักคิดแนวมนุษย์นิยมได้อย่างน่าชื่นชม มันเป็นงานสัจนิยมที่วันนี้หาคนเขียนและทำออกมาถึงได้เช่นนี้ยากเต็มที ผมเชื่อว่าในจำนวนหลายเรื่องของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้น่าจะมีเรื่องที่ดีเด่นเช่นนี้อีกมาก ขอเพียงแค่ให้เราอ่านจบและอ่านจริง

อยากบอกอีกสักนิดว่า วันนี้กนกพงศ์ไร้ชีวิตไปแล้ว แต่งานของเขากลับพูดแทนตัวของเขาไปได้อีกยาวนาน และนี่หล่ะคือพันธกิจของนักเขียนที่ต้องทำให้สำเร็จ

ตอนจบของเรื่องสั้นที่เราพูดถึงกันนี้กนกพงศ์ เขียนเอาไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเผลออ่านประโยคแรก

พ่อของฉันเป็นชาวศรีลังกา...


ข้าพเจ้าไม่กล้าอ่านต่อ”






หมายเหตุ – จากคำนำของสำนักพิมพ์นาครในรวมเรื่องสั้น “นิทานประเทศ” บอกเอาไว้ว่างานเขียนของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นอกเหนือจาก “โลกหมุนรอบตัวเอง” ผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้ และ “นิทานประเทศ” เล่มนี้แล้ว ต่อไปยังมีรวมเรื่องสั้นที่จะติดตามและคิดว่าอยู่ในกลุ่มความคิดหรือชุดความคิดเดียวกันอีกสองเล่มหนึ่งคือ “รอบบ้านทั้งสี่ทิศ” และอีกหนึ่งคือ “คนตัวเล็ก” ผมเชื่อว่าสำหรับคนที่รักโลก รักชีวิต และรักความคิดต้องเฝ้ารอคอยที่จะติดตามและได้พูดคุยกับเขาผ่านการงานที่เขาสร้างทำขึ้นมานี้อย่างแน่นอน – อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งหล่ะที่รอคอย แต่ตอนนี้ขออ่าน “นิทานประเทศ”ให้จบก่อน หนังสือหนาจังง! – อารดา เปรมพันธุ์.

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/aradapream/2007/07/17/entry-1